การเจาะน้ำบาดาลในโซนภาคอีสาน ถ้าพบว่าเจาะแล้วเป็นน้ำเค็มจะทำอย่างไร
เมื่อเจาะน้ำบาดาลแล้วได้น้ำเค็มก็อาจให้เจาะลึกลงไปเพื่อหาชั้นนำ้บาดาลที่สามารถให้น้ำที่ดีพอสำหรับการใช้งาน แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ หรือลูกค้าไม่ต้องการให้ขุดต่อจึงจำเป็นต้องอุดกลบบ่อน้ำบาดาลตามกฎหมาย
ใช้เวลาในการเจาะนานหรือไม่
การเจาะบาดาลแต่ละครั้ง ขึ้นอยู่กับความลึกและพื้นที่
การกำเนิดของน้ำบาดาล
น้ำบาดาล เกิดจากน้ำในบรรยากาศ ซึ่งตกลงมาในลักษณะของฝน ไหลซึมลงไปตามช่องว่าง ระหว่างเม็ดดิน/เม็ดหิน ไปยังที่ต่ำกว่า หรือ มีแรงดันน้อยกว่า แล้วสะสมรวมกันจนกลายเป็นส่วนที่อิ่มตัวด้วยน้ำ หรือที่เรียกว่า น้ำบาดาล
การเจาะบ่อ มีวิธีใดบ้าง
มีวิธีการหลายๆ แบบที่ใช้เครื่องมือ แตกต่างกันออกไป ซึ่งการเลือกวิธีการเจาะบ่อ โดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับ ชนิดของหินที่อยู่ภายใต้ผิวดินและความลึก ที่ต้องการเจาะเป็นสำคัญ วิธีการที่นิยมใช้ ได้แก่ 1). การเจาะแบบกระแทก 2). การเจาะแบบหมุน 3). การเจาะแบบใช้ลม
การปรับปรุงและพัฒนาบ่ออย่างไร
การปรับปรุงบ่อ (Well completion) การปรับปรุงบ่อหรือการทำบ่อ ได้แก่ การทำรูเจาะให้เป็นบ่อน้ำ เพื่อพัฒนานำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ และเพื่อป้องกันการพังทลายของบ่อ การปรับปรุง ประกอบด้วย การออกแบบบ่อ การใส่ท่อกรุ การกรุกรวด การพัฒนาบ่อ (Well Development) เพื่อทำให้บ่อมีน้ำเพิ่มมากขึ้น ป้องกันไม่ให้ทรายไหลเข้าบ่อ ทำให้บ่อมีอายุ การใช้งานได้นาน หลักการ คือ ทำให้เม็ดกรวดทรายที่อยู่รอบบ่อเรียงตัวอย่างเป็น ระเบียบ ทำให้มีความพรุนและความซึมได้สูง วิธีการที่นิยม คือการเป่าล้างด้วยลม
การสูบทดสอบจำเป็นไหม
การสูบทดสอบ (Pumping Test) เป็นสิ่งที่จำเป็น ต้องกระทำภายหลังจากการปรับปรุงและพัฒนาบ่อเสร็จแล้ว ทำเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะสามารถสูบขึ้นมาใช้ โดยข้อมูลเหล่านี้จะใช้เพื่อการเลือกเครื่องสูบน้ำให้ถูกต้อง และเหมาะสม
การสำรวจแหล่งน้ำบาดาลแบ่งออกเป็นกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง
แบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ การสำรวจเบื้องต้น เป็นการศึกษาจากข้อมูลและเอกสารที่มีอยู่ เพื่อให้ทราบถึงสภาพธรณีอุทกอย่างกว้างๆ เป็นการค้นคว้าทางธรณีวิทยา และอุทกวิทยาที่เกี่ยวกับชั้นน้ำ หรือแหล่งกักเก็บน้ำบาดาลในบริเวณที่ต้องการ ปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะทำให้ทราบถึงแนวโน้มของแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเลือกพัฒนาและเจาะน้ำบาดาลได้ดียิ่งขึ้น การสำรวจผิวดิน เป็นการสำรวจด้วยวิธีธรณีฟิสิกส์ เพื่อช่วยเสริมให้ข้อมูลถูกต้องยิ่งขึ้น โดยอาศัยความแตกต่างของคุณสมบัติของหิน และแร่ที่ประกอบหินเป็นสำคัญ การสำรวจใต้ผิวดิน เป็นการขุดเจาะทดสอบให้ทราบสภาพของชั้นหินที่แน่นอนและละเอียด แต่ราคาค่าสำรวจค่อนข้างแพง เมื่อสำรวจทราบแน่ชัดแล้วว่าที่ใดมีแหล่งน้ำบาดาล และตัดสินใจที่จะพัฒนานำมาใช้สอย ควรคำนึงถึงสิ่งใด
น้ำใต้ดินไหลอย่างไร
การไหลของน้ำใต้ดินจะเป็นไปอย่างช้ามาก วัดโดยใช้หน่วยเป็นเซนติเมตรต่อวัน หรือต่อปี ความเร็วในการไหลจะขึ้นอยู่กับ ปัจจัยหลัก คือ ความพรุน และ ความซึมได้ ความพรุน (Porosity) หมายถึง ช่องว่างในหิน โดยคิดเป็นเปอร์เซนต์ของปริมาตรทั้งหมด ความพรุนจะขึ้นอยู่กับ รูปร่าง ลักษณะขนาด การคัดขนาด และการคลุกเคล้ากันของเศษหินเล็กๆ ซึ่งจะแตกต่างกันในหินแต่ละชนิด ความซึมได้ (Permeability) หมายถึง ความสามารถในการที่จะดูดซึมหรือปล่อยน้ำ ออกมาของชั้นหิน การที่น้ำจะไหลผ่านวัตถุต่างๆ ได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของช่องว่างเท่านั้น ยังต้อง พิจารณาถึงทางติดต่อระหว่างช่องว่างเหล่านั้นอีกด้วย
บ่อน้ำบาดาลแบ่งออกเป็นกี่แบบ อะไรบ้าง
แบบบ่อน้ำบาดาลแบ่งตามการเจาะบ่อน้ำบาดาลในชั้นหินร่วมและชั้นหินแข็งออกเป็น 3 แบบ คือ การเจาะน้ำบาดาลในชั้นหินร่วมแบบกรุกรวด(Artificial Gravel Pack) เป็นรูปแบบที่ เจาะและใส่ท่อแล้วต้องทําการกรุกรวดด้วยชนิดและขนาดที่ เหมาะสมรอบท่อ กรองน้ำเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการไหลซึมผ่านของน้ำบาดาลและป้องกันผนังบ่อพัง การเจาะน้ำบาดาลในชั้นหินร่วนแบบไม่กรุกรวด( Natural Gravel Pack) เป็นการใช้กรวดในชั้นหินอุ้มน้ำที่มีขนาดโตกว่าช่องรูเปิดน้ำเข้าบ่อทําหน้าที่หุ้มโดยรอบท่อกรองน้ำซึ่งจะมีวิธีการทางเทคนิคในการ ขจัดเม็ดทรายหรือกรวดขนาดเล็กเพื่อเหลือแต่กรวดขนาดใหญ่คงอยู่รองท่อกรองน้ำ การเจาะบ่อในชั้นหินแข็งแบบบ่อเปิด(OpenHole) เป็นการเจาะบ่อในชั้นหินแข็งโดยไม่จําเป็นต้องลงท่อกรุและท่อกรองน้ำในช่วงชั้นให้น้ำหรืออาจจะลงท่อเพื่อป้องกันผนังบ่อพังกรณี ที่ชั้นหินให้น้ำอาจไม่แข็งแรงพอหรือมีการเลื่อนตัวของชั้นหิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและโครงสร้างของชั้นหิน
ทำไมบางพื้นที่เจาะบ่อบาดาลพบน้ำเค็ม แต่บริเวณใกล้เคียงมีแหล่งน้ำจืด
พื้นที่บางพื้นที่เจาะน้ำบาดาลพบน้ำเค็ม ทั้งที่บริเวณใกล้เคียงมีแหล่งน้ำจืด เนื่องจากในเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นน้ำทะเลมาก่อน มีแหล่งเกลือหิน (แร่โปแตช) ที่อยู่ใต้พื้นดินเป็นจำนวนมาก เมื่อมีน้ำใต้ดินไหลผ่านจึงละลายเป็นน้ำเค็มบ้าง น้ำกร่อยบ้าง กระจายอยู่ทั่วไปเป็นหย่อม ๆ เราอาจเรียกแหล่งน้ำเค็มเหล่านี้ว่า “กะเปาะน้ำเค็ม” เช่น พื้นที่บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ดังนั้น ถ้าเจาะน้ำบาดาลลงไปในบริเวณที่เป็นกะเปาะน้ำเค็มก็จะได้น้ำเค็ม ในการนี้ ก่อนดำเนินการเจาะน้ำบาดาลในบริเวณนั้น ๆ ให้ผู้ประสงค์จะเจาะ และใช้น้ำบาดาล ปฏิบัติ ดังนี้
1. ดูข้อมูลจาก เวปไซต์ www.dgr.go.th (หน้าบริการประชาชน) ทั้งนี้ เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับน้ำบาดาล ที่สามารถสูบได้จากบ่อน้ำบาดาล คุณภาพจากบ่อน้ำบาดาลในบริเวณนั้น
2. สอบถามข้อมูลจากช่างเจาะน้ำบาดาล วิศวกร หรือนักธรณีวิทยาผู้ควบคุมรับผิดชอบในการเจาะ น้ำบาดาลที่ได้รับหนังสือรับรองจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
3. ติดต่อผู้ชำนาญการเพื่อสำรวจสภาพน้ำบาดาลในบริเวณนั้นด้วยเครื่องหยั่งธรณี (Well logger)
ปัจจุบันค่าธรรมเนียมขอใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลและใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลฉบับละเท่าไหร่
ปัจจุบันค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเจาะน้ำบาดาลและใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล คิดตามขนาดบ่อ คือ
* บ่อน้ำบาดาลขนาดเล็ก (2 นิ้ว และ 3 นิ้ว) เก็บค่าธรรมเนียม ฉบับละ 100 บาท
* บ่อน้ำบาดาลขนาดกลาง (4 นิ้ว 5 นิ้ว และ 6 นิ้ว) เก็บค่าธรรมเนียม ฉบับละ 500 บาท
* บ่อน้ำบาดาลขนาดใหญ่ (ตั้งแต่ 8 นิ้ว ขึ้นไป) เก็บค่าธรรมเนียม ฉบับละ 1,000 บาท
อยากจะใช้น้ำบาดาล ขออนุญาตเจาะบาดาลอย่างไร
ในการขออนุญาตเจาะหรือใช้น้ำบาดาล มีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
1.ผู้ขอรับใบอนุญาต ยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐาน ต่อเจ้าพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่
2.พนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ ทำการตรวจเช็คเอกสารและออกใบรับคำขอ
3.หลังจากส่งเอกสารหลักฐานครบถ้วน รอพิจารณาออกหรือไม่ออกใบอนุญาต ภายใน 25 วัน
ในการขออนุญาตเจาะบาดาล บริษัทสามารถดำเนินการให้หรือไม่
ตามหลัก ในการดำเนินการขออนุญาตเจาะหรือใช้น้ำบาดาลเป็นหน้าที่ขอเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของบ้าน ซึ่งขั้นตอนในการขออนุญาตเจาะและใช้น้ำไม่ได้ยุ่งยากอะไร อย่างไรก็ตาม หากลูกค้ามีความประสงค์ให้บริษัทของเราช่วยดำเนินการในการนำส่งเอกสารอนุญาตเจาะบาดาลก็สามารถทำได้ โดยสามารถปรึกษาฝ่ายบริการลูกค้าได้เลย
ทำไมต้องขออนุญาตเจาะ-ใช้น้ำบาดาล
น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนมีสิทธินำขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่การเจาะบ่อน้ำบาดาลที่ไม่ได้มาตรฐาน ผิดหลักวิชาการและใช้น้ำบาดาลเกินสมดุลจะเกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล ทำให้คุณภาพเปลี่ยนแปลงไป และในที่สุดอาจสูญเสียแหล่งน้ำบาดาล ดังนั้น กฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล จึงควบคุมการใช้น้ำบาดาลเพื่อให้ใช้น้ำบาดาลอย่างประหยัด พอเพียง ควบคู่การอนุรักษ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน